Earth Day ในยุคที่สหรัฐฯ ลดบทบาทนโยบายสีเขียว

คอลัมน์ร่วมด้วยช่วยคิด | 08 พฤษภาคม 2568

วันที่ 22 เมษายนของทุกปีถือเป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day)OUR POWER OUR PLANET พลังของเรา โลกของเรา” เป็นแนวคิดหลักของวันคุ้มครองโลกในปี 2025  ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 55 ปีของวันคุ้มครองโลก โดยในปีนี้มุ่งเน้นให้ทุกคนร่วมมือกันใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่าภายในปี 2030 เพื่อช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องระบบนิเวศ รวมถึงการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเราทุกคนต้องร่วมกันผนึกพลังลงมือทำทันที เพื่อคุ้มครองโลกที่เป็นบ้านของเรา...

Earth Day ในยุคที่สหรัฐฯ ลดบทบาทนโยบายสีเขียว

หากย้อนไปในอดีต หลังการรั่วไหลของน้ำมันครั้งใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เกย์ลอร์ด เนลสัน ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในสหรัฐฯ มานานแล้ว ถือเป็นคนสำคัญในการเริ่มผลักดันให้เกิดวันคุ้มครองโลก โดยสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรวมตัวกันของชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวเพื่อร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อมและรณรงค์ปัญหาเรื่องมลพิษ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อระดับชาติ จนนำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายฉบับในสหรัฐฯ การจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และกลายเป็นที่มาของวันคุ้มครองโลกที่ประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก

 

ตัดภาพกลับมาปัจจุบัน ในขณะที่นานาประเทศกำลังเดินไปข้างหน้าด้วยการลดการปล่อยมลพิษ สหรัฐฯ ดูเหมือนจะถอยหลัง ในวันแรกของการดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีเกือบ 200 ประเทศตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อน

 

ในขณะเดียวกัน อีลอน มัสก์ และกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาลได้ลดจำนวนพนักงานของรัฐบาลกลางและเลิกโครงการวิจัยสภาพอากาศทั้งหมดนี้ในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงสุดสำหรับโลกและความสามารถของมนุษยชาติในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ

 

น่าสังเกตว่าในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงท่าที่อย่างชัดเจนในการลดความสำคัญของนโยบายสีเขียว ผู้นำประเทศเพื่อนบ้านสำคัญกลับเป็นคนที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในการบริหารจัดการนโยบายสีเขียว ทั้ง คลอเดีย เชนบาม ประธานาธิบดีหญิงของเม็กซิโก ที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาเอกด้านวิศวกรรมพลังงานและเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการจัดทำรายงานภูมิอากาศศาสตร์ของสหประชาติ และ มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศแคนาดา และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ และเคยดำรงตำแหน่งทูตพิเศษของสหประชาชาติด้านการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการเงิน โดย มาร์ก คาร์นีย์ ได้กล่าวในสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งว่า “ถึงเวลาที่จะสร้างแคนาดาให้เป็นมหาอำนาจด้านพลังงานทั้งในส่วนของพลังงานสะอาดและพลังงานสิ้นเปลือง... และถึงเวลาที่จะสร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแคนาดาควบคู่ไปกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

 

จุดยืนดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำในหลักการเดียวกันกับที่เคยแสดงไว้ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ถกถึง “โศกนาฏกรรมของขอบฟ้า (Tragedy of the Horizon)” ในปาฐกถาปี 2015 ที่สะท้อนว่าแม้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสี่ยงอย่างยิ่งยวดต่อตลาดการเงิน แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นนี้กลับถูกละเลยจากการมองการณ์ใกล้ของนักลงทุน ปาฐกถาดังกล่าวได้จุดประกายให้ภาคการเงินหันกลับมาคำนึงถึงความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และจัดทำการวิเคราะห์ฉากทัศน์และกำหนดเป้าหมายในระยะยาวซึ่งให้น้ำหนักกับทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นในอีกศตวรรษข้างหน้าและผลกระทบต่อตลาดการเงินในระยะสั้นจากการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบาย รวมทั้งปฏิกิริยาของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่มีต่อแนวนโยบายเหล่านั้น

 

ท่ามกลางความกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งมีแนวโน้มจะลดทอนความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมลงไปไม่มากก็น้อย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั่วโลกต้องสร้างสมดุลระหว่างการรับมือกับความผันผวนทางการค้า และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อคนรุ่นหลังจะได้มีโลกที่น่าอยู่และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สืบไป


 

** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **

ผู้เขียน

montalee photo








ดร. มณฑลี กปิลกาญจน์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด”
ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 

Tag ที่เกี่ยวข้อง :

การเงินเพื่อความยั่งยืน บทความ
OSZAR »